วันจันทร์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2557

การจัดการความรู้KM

การจัดการความรู้ KM 
โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลขามเปี้ย


ถอดบทเรียน : การดำเนินงานตำบลจัดการสุขภาพ “ดอนหมูโมเดล” ตำบลขามเปี้ย
อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี

รุ่งโรจน์ ทีอุทิศ
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลขามเปี้ย

บทความเรื่องนี้  เป็นการถอดบทเรียนจากการดำเนินงานหมู่บ้านจัดการสุขภาพที่เป็นการบูรณาการรูปแบบการทำงานสุขภาพชุมชนของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรชุมชน เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และโดยเฉพาะนักสุขภาพครอบครัว ข้อมูลที่นำมาสังเคราะห์มาจากการเก็บรวบรวมข้อมูล ที่เน้นการถอดบทเรียนในพื้นที่ของบ้านดอนหมูตำบลขามเปี้ย อำเภอตระการพืชผล ซึ่งผลจาการศึกษาพบว่า บ้านดอนหมู เป็นชุมชนเข้มแข็งที่มีทุนทางสังคมที่หลากหลาย ดังนั้นการแก้ปัญหาชุมชน โดยเฉพาะการแก้ปัญหาสุขภาพอนามัยชุมชน จึงต้องนำทุนทางสังคมที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ข้อมูลที่ได้สะท้อนให้เห็นว่า แนวคิดของการพัฒนารูปแบบการดูแลสุขภาพประชาชนในพื้นที่มุ่งเน้นถึงการจัดบริการและการดูแลสุขภาพของประชากรกลุ่มเป้าหมายทุกกลุ่มวัย มุ่งเน้นการสร้างเสริมสุขภาพควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยมีวัดเป็นศูนย์กลางของการรวมกลุ่มของคนในชุมชน  มีการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ของชุมชน เป็นศูนย์แห่งการส่งเสริมสุขภาพสำหรับคนกลุ่มวัยต่างๆ เป็นศูนย์แห่งการสร้างรายได้ซึ่งนำมาซึ่งสุขภาวะที่ดีแก่คนในชุมชน 
          การพัฒนาชุมชนให้เป็นชุมชนแห่งการสร้างเสริมสุขภาพได้นั้น พบว่ามีนักสุขภาพครอบครัวที่ปฏิบัติในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงและเป็นแบบอย่างในการทำงานด้านสุขภาพ มีกลุ่ม     อ.ส.ม. เป็นขุมกำลังสำคัญในการทำงานด้านสุขภาพ โดยเฉพาะการให้บริการด้านการเฝ้าระวัง ควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออก ซึ่งเป็นโรคประจำท้องถิ่นของชุมชนและเป็นรูปแบบการทำงานที่แสดงให้เห็นความโดดเด่นในการทำงานร่วมกันอย่างเข้มแข็งของกลุ่ม อ.ส.ม. อีกด้วย การทำงานด้านสุขภาพร่วมกันระหว่างนักสุขภาพครอบครัวกับกลุ่มองค์กรชุมชน  ทำให้เกิดการพัฒนารูปแบบการดูแลสุขภาพชุมชนที่เน้นการแก้ปัญหาและความต้องการด้านสุขภาพของคนกลุ่มวัยต่างๆ ในชุมชน โดยเฉพาะการออกแบบกิจกรรมการบริการด้านสุขภาพสำหรับกลุ่มประชากรวัยเรียนวัยรุ่น ซึ่งเป็นกลุ่มประชากรที่คนส่วนใหญ่ในชุมชนให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ รวมถึงการออกแบบกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพสำหรับคนกลุ่มวัยต่างๆ ที่ล้วนก่อให้เกิดกระบวนการพัฒนารูปแบบการดูแลสุขภาพของชุมชนในบ้านดอนหมู 
          ดังนั้นเพื่อก่อให้เกิดการเรียนรู้กระบวนการพัฒนารูปแบบการดูแลสุขภาพของชุมชนในบ้านดอนหมู ซึ่งจะนำสู่การขยายผลเพื่อเป็นแบบอย่างให้แก่พื้นที่แห่งอื่นนั้น คณะผู้วิจัยจึงได้ดำเนินการถอดบทเรียนกระบวนการพัฒนารูปแบบการดูแลสุขภาพชุมชนของพื้นที่ชุมชนในบ้านดอนหมู โดยแบ่งการนำเสนอออกเป็น 5 ประเด็น ดังนี้

1.        กระบวนการพัฒนาสุขภาพชุมชน  การพัฒนาระบบสุขภาพชุมชนที่เน้นการแก้ปัญหาด้านสุขภาพอนามัย และการมีระบบสุขภาพที่สนองตอบต่อความต้องการของประชากรทุกกลุ่มเป้าหมายของชุมชน เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นจากการการเรียนรู้ร่วมกันของผู้ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ซึ่งได้แก่ นักสุขภาพครอบครัว เจ้าหน้าที่สาธารณสุข  ผู้นำชุมชน กลุ่มองค์กรชุมชน  อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.) และประชาชนในพื้นที่  แนวคิดในการพัฒนาสุขภาพชุมชน คือ การทำงานที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เน้นการเข้าถึงข้อมูลที่สะท้อนให้เห็นปัญหาด้านสุขภาพของคนในพื้นที่และปัญหาสุขภาพซึ่งเป็นปัญหาเฉพาะของประชากรกลุ่มวัยต่างๆ  ตลอดจนวิธีการทำงานที่เน้นการทำงานเชิงรุก แบบมีส่วนร่วมในทุกระดับของชุมชน
กระบวนการพัฒนารูปแบบการดูแลสุขภาพชุมชน มีขั้นตอนการดำเนินการซึ่งประกอบด้วยขั้นตอนที่สำคัญ คือ

1) การกำหนดกลุ่มเป้าหมายของการพัฒนาสุขภาพชุมชน พบว่า การดำเนินการพัฒนาสุขภาพชุมชนให้ความสำคัญกับการให้บริการดูแลสุขภาพของประชากรทุกกลุ่มวัย ซึ่งเป็นกลุ่มประชากรเป้าหมายหลักตามชุดสิทธิประโยชน์ ซึ่งได้แก่กลุ่ม WECANDO  กลุ่มเด็กวัย 0-6 ปี  กลุ่มเด็กวัยเรียนและเยาวชน กลุ่มสตรี กลุ่มวัยแรงงาน  และกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส   
2) การปฏิบัติการเพื่อการพัฒนาสุขภาพชุมชน ซึ่งประกอบด้วยกระบวนการที่สำคัญ       4 กระบวนการ คือ 
หนึ่ง การค้นหาทุนทางสังคม 
สอง การพัฒนาศักยภาพของผู้ร่วมกระบวนการ 
สาม การกำหนดเป้าหมายในการพัฒนาสุขภาพชุมชน และ
 สี่ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการพัฒนาสุขภาพชุมชน

2.     เป้าหมายของการดูแลสุขภาพชุมชน
 2.1 กลุ่มประชากรเป้าหมาย  กลุ่มประชากรเป้าหมายที่สำคัญในการพัฒนาระบบสุขภาพชุมชนให้เป็นชุมชนแห่งการสร้างเสริมสุขภาพ สะท้อนให้เห็นว่า กลุ่มประชากรทุกกลุ่มตามชุดสิทธิประโยชน์ ซึ่งได้แก่ 1) กลุ่มเด็กวัย 0-6 ปี  2) กลุ่มเด็กวัยเรียนและเยาวชน  3) กลุ่มสตรี  4) กลุ่มวัยแรงงาน  และ 5) กลุ่มผู้สูงอายุ ผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส  ล้วนเป็นประชากรกลุ่มเป้าหมายของการพัฒนาระบบการบริการดูแลสุขภาพของชุมชนทั้งสิ้น  
                   2.2 ประเด็นหรือปัญหาสุขภาพ  ในการพัฒนาระบบสุขภาพชุมชนสำหรับกลุ่มเป้าหมายทุกกลุ่มวัยนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการพัฒนาระบบสุขภาพ จะต้องเรียนรู้ถึงประเด็นปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นกับคนในพื้นที่ ข้อมูลจากการถอดบทเรียนผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการพัฒนาสุขภาพชุมชนชี้ให้เห็นว่า ประเด็นหรือปัญหาสุขภาพของพื้นที่แบ่งได้ 2 ลักษณะ คือ
1) ปัญหาสุขภาพที่เป็นปัญหาเฉพาะของพื้นที่ ซึ่งได้แก่ ปัญหาโรคไข้เลือดออกซึ่งถือเป็นโรคประจำท้องถิ่น ปํญหาการใช้สารเคมีในการเพาะปลูกพืช เป็นต้น
2) ปัญหาสุขภาพหรือความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นกับประชากรในกลุ่มวัยต่างๆ โดยเฉพาะปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นกับกลุ่มประชากรวัยเด็ก อาทิเช่น โรคอ้วน ปัญหาเด็กติดเกมส์ เป็นต้น กลุ่มผู้สูงอายุ ได้แก่ โรคเรื้อรัง (เบาหวาน ความดันโลหิตสูง) กลุ่มสตรีวัยเจริญพันธุ์ ได้แก่ โรคมะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม เป็นต้น
2.3 ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น
                             ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมจากกระบวนการพัฒนาสุขภาพชุมชน สะท้อนให้เห็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นทั้งในส่วนของผลลัพธ์เชิงระบบ ที่ก่อให้เกิดการพัฒนาระบบบริการสุขภาพแก่ประชากรในกลุ่มวัยต่างๆ  การพัฒนาระบบการทำงานของกลุ่มผู้ให้บริการ  เกิดผลลัพธ์ในส่วนของการพัฒนาศักยภาพคนที่เกี่ยวข้องตลอดกระบวนการ  และที่สำคัญก่อให้เกิดการพัฒนาวิธีการทำงาน  แนวปฏิบัติ ตลอดจนเครื่องมือในการทำงาน
3.   กลไก วิธีการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการดูแลสุขภาพอย่างรูปธรรม
                    3.1 กระบวนการหาและใช้ทุนทางสังคมในการสร้างการมีส่วนร่วมกับองค์กรภาคี กลุ่มคนที่เกี่ยวข้อง  ข้อค้นพบจากการศึกษาชี้ให้เห็นว่า พื้นที่ในบ้านดอนหมูมีการนำทุนทางสังคมทั้งหมดที่มีอยู่ในพื้นที่มาใช้ในการพัฒนาระบบสุขภาพและสร้างระบบการดูแลคนกลุ่มวัยต่างๆ ของชุมชน  โดยมีเป้าหมายสูงสุด คือ การสร้างและพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ประชากรในพื้นที่ ตัวอย่างทุนทางสังคมที่ปรากฏในพื้นที่ มีดังนี้ ซึ่งได้แก่ การมีกลุ่มอสม.ที่เข้มแข็งเป็นฐานและเป็นขุมกำลังในการทำงานด้านสุขภาพ การใช้บ้าน วัด โรงเรียน และศูนย์การเรียนรู้ชุมชน เป็นกลไกหลักในการพัฒนาชุมชน ตลอดจนการจัดให้มีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการทำงานด้านสุขภาพระหว่างเจ้าหน้าที่สาธารณสุขกับองค์กรภาคี
 3.2 กระบวนการค้นหา เลือกใช้ ข้อมูล/ความรู้ ที่เกี่ยวกับปัญหาสุขภาพ แนวทางการจัดการดูแลสุขภาพ
           จากการศึกษากระบวนการค้นหา เลือกใช้ข้อมูล/ความรู้เพื่อการพัฒนาระบบสุขภาพชุมชนนั้น พบว่า มีขั้นตอนหรือกระบวนการที่สำคัญคือ 
1) การค้นหาข้อมูล/การสร้างข้อมูล ซึ่งได้แก่ ข้อมูลประชากร ทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับอัตราการเกิด อัตราตาย และอัตราการเจ็บป่วย ภาวะสุขภาพของประชาชน โรคและปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นในลักษณะของโรคและปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นในแต่ละกลุ่มวัย และโรคหรือปัญหาสุขภาพที่เป็นปัญหาเฉพาะพื้นที่  เป็นต้น ข้อมูลเกี่ยวกับทุนทางสังคมของพื้นที่ ซึ่งได้แก่ แหล่งประโยชน์ของชุมชน การรวมกลุ่มเครือข่าย/สมาชิกของกลุ่มต่างๆ ในชุมชน ปราชญ์หรือผู้รู้ของชุมชน ทรัพยากรทางธรรมชาติที่มีอยู่ในชุมชน เป็นต้น 
2) การสื่อข้อมูล พื้นที่ชุมชนในบ้านดอนหมูมีวิธีการสื่อข้อมูลใน 2 ลักษณะ คือ หนึ่ง การสื่อสารข้อมูลที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แบบไม่เป็นทางการ  ซึ่งได้แก่ การพูดคุยในวิถีชีวิตประจำวัน การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในกลุ่มอาชีพ กลุ่มที่ทำงานร่วมกัน สอง การสื่อสารข้อมูลในลักษณะที่เป็นแบบทางการ ซึ่งได้แก่ การทำประชาคมหมู่บ้าน การจัดประชุมอสม.ประจำเดือน การเข้าร่วมประชุม อบรม สัมมนาในเวทีต่างๆ การศึกษาดูงานพื้นที่ต้นแบบ รวมถึงการเรียนรู้ผ่านช่องทางสื่อต่างๆ เช่น วิทยุชุมชน หอกระจายข่าว เอกสารวิชาการต่างๆ เป็นต้น และ 
3) การใช้ข้อมูล เป็นขั้นตอนสุดท้ายในการนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน โดยเฉพาะการนำข้อมูลด้านต่างๆ ไปใช้เพื่อการพัฒนาการจัดบริการดูแลประชาชนกลุ่มเป้าหมาย
           3.3 กระบวนการออกแบบวิธีการ กิจกรรมการทำงานที่เป็นรูปธรรม พบว่า กระบวนการออกแบบวิธีการทำงานมีกระบวนการที่สำคัญ คือ
 1)การใช้ข้อมูลปัญหาและความต้องการด้านสุขภาพของชุมชนเป็นตัวตั้ง
 2)การระดมทุนทางสังคมที่มีอยู่มาใช้ให้เต็มศักยภาพ
3)การพัฒนาศักยภาพผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องตลอดกระบวนการ
4)การติดอาวุธทางปัญญาด้วยการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของผู้ร่วมกระบวนการ
 5)การออกแบบวิธีการ กิจกรรมการทำงานที่สนองตอบต่อปัญหาและความต้องการของพื้นที่
          3.4 กระบวนการพัฒนากติกา ข้อตกลง หรือนโยบายในระดับพื้นที่ จากปัญหาและความต้องการด้านสุขภาพของประชากรกลุ่มเป้าหมายหลักของชุมชน นำสู่การพัฒนากติกา ข้อตกลง หรือการจัดทำนโยบายระดับพื้นที่เพื่อให้เกิดการดูแลสุขภาพ พบว่า กระบวนการพัฒนากติกา ข้อตกลง หรือแนวทางการทำงาน ของผู้ที่เกี่ยวข้องในชุมชนในบ้านดอนหมู มีขั้นตอนที่สำคัญ คือ
1) การค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นปัญหาสุขภาพของพื้นที่ กลุ่มเป้าหมายหลักของชุมชน
2) การเปิดโอกาสให้มีการแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นปัญหาที่กลุ่มให้ความสนใจ
3) การค้นหาแนวทาง ทางออกในการแก้ปัญหา โดยการนำทุนทางสังคมที่มีมาใช้ในการ
 แก้ปัญหา
4) การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และใช้การมีส่วนร่วมของผู้ที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันพัฒนา ข้อตกลงแผนการดำเนินการ เพื่อการจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้น
5) ผลจากการพัฒนาข้อตกลง แนวทางการดำเนินการ อาจนำสู่การแก้ปัญหาอย่างเป็น ระบบ แบบบูรณาการโดยกำหนดและจัดทำเป็นแผนสุขภาพชุมชน หรือโครงการ/ แผนกิจกรรม
4.    บทบาทหน้าที่ขององค์กรและภาคีที่เกี่ยวข้องกระบวนการพัฒนาระบบสุขภาพชุมชนมีองค์กรที่เกี่ยวข้องตลอดกระบวนการ ซึ่งได้แก่องค์กร/ภาคีที่เกี่ยวข้อง บทบาทหน้าที่/กิจกรรม
สถานบริการสุขภาพในพื้นที่ รพ.สต.ขามเปี้ย
= การเป็นผู้พัฒนาระบบบริการที่เน้นการพัฒนาระบบฐานข้อมูลสุขภาพชุมชน เป็นแหล่งข้อมูล
= เป็นผู้เชื่อมประสานทั้งในส่วนของประชาชนผู้รับบริการและผู้ที่เกี่ยวข้องในการดูแลสุขภาพ
= เป็นผู้ให้การสนับสนุน (แนวคิดเชิงวิชาการ เครื่องมืออุปกรณ์)
= ออกแบบและจัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ กิจกรรมเฝ้าระวังและควบคุมป้องกันโรค
= พัฒนาศักยภาพผู้เที่เกี่ยวข้อง เช่น อสม.
= ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเวทีประชาคม
= เป็นพี่เลี้ยงในการทำงานสุขภาพชุมชน
= ร่วมจัดทำแผนสุขภาพ
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อบต.)
= สนับสนุนงบประมาณ ดำเนินการจัดตั้งศูนย์/เครือข่ายการเรียนรู้
= ประชาคม เสนอความคิดเห็น
= สนับสนุนเครื่องมือ อุปกรณ์ กำลังคน
= ร่วมจัดทำแผนสุขภาพ/แผนแม่บทชุมชน
= ประสานความร่วมมือ
กลุ่ม/เครือข่ายต่างๆ
= ร่วมเสนอความคิดเห็นในเวทีประชาคม
= ประชาสัมพันธ์แบบคนต่อคน แบบบอกต่อ
= ออกแบบกิจกรรม วางแผน จัดทำแผนกิจกรรมกลุ่มอสม.
= ร่วมดำเนินงานสุขภาพ เช่น คัดกรอง เยี่ยมบ้าน พ่นยา ให้คำแนะนำ
= ร่วมเวทีประชาคม
ประชาสัมพันธ์
= สนับสนุนการดำเนินงาน กิจกรรมต่างๆ
วัด/เจ้าอาวาส
= สนับสนุนสถานที่จัดกิจกรรม
= ให้คำแนะนำ  ประสานความร่วมมือ
= สนับสนุนงบประมาณ (ผ้าป่า)
โรงเรียน/ครู
= สถานที่จัดกิจกรรม
= ร่วมออกแบบการจัดบริการ
= ให้ความร่วมมือ แนะนำ ติดตาม และร่วมประเมินผล

5. เงื่อนไขแห่งความสำเร็จของการออกแบบการพัฒนาสุขภาพชุมชน
พบว่า เงื่อนไขและปัจจัยของความสำเร็จในการพัฒนาระบบสุขภาพชุมชนที่นำไปสู่การสร้างเสริมสุขภาพชุมชน ใน 2 ประเด็นหลัก ได้แก่ 
1.การสร้างเสริมสุขภาพโดยอาศัยความต้องการของชุมชนเป็นตัวตั้ง เกิดจากความต้องการที่จะจัดการกับปัญหาสุขภาพ ความต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนและสิ่งแวดล้อมก่อให้เกิดแรงผลักดันที่ต้องการที่จะให้ตนและชุมชนมีความผาสุก สะท้อนให้เห็นจากกิจกรรมและโครงการต่างๆที่เกิดขึ้นล้วนแล้วแต่ผ่านจากการกลั่นกรองจากความคิดของประชาคมเพื่อจะตอบสนองปัญหาและความต้องการที่แท้จริงของประชาชน 
2) การสร้างและพัฒนาความเข้มแข็งของเครือข่ายการสร้างเสริมสุขภาพ   โดยมีวิธีการออกแบบการทำงานที่ต้องอาศัยบุคคลากรหลายฝ่ายทั้งสถานบริการสุขภาพในพื้นที่  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  ผู้นำชุมชน กลุ่ม  อสม. ประธานกลุ่ม/เครือข่ายต่างๆ แกนนำชุมชน ที่ต้องมีส่วนร่วมตั้งแต่การวิเคราะห์สภาพปัญหาชุมชน การค้นหาทุนทางสังคมที่มีอยู่และนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการแก้ปัญหาชุมชน 

นักสุขภาพครอบครัวกับการพัฒนาระบบสุขภาพชุมชนนักสุขภาพครอบครัวคือกลไกหลักแห่งความสำเร็จ
            ในการพัฒนาระบบสุขภาพชุมชนให้เป็นชุมชนแห่งการสร้างเสริมสุขภาพและมุ่งเน้นการดูแลแบบบูรณาการที่หลอมรวมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน นักสุขภาพครอบครัวคือกลไกสำคัญที่ทำให้เกิดการพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพชุมชน นักสุขภาพครอบครัวสามารถร่วมสร้างสรรค์ สนับสนุน และสามารถปฏิบัติงานตามบทบาทหน้าที่ของนักสุขภาพครอบครัวในงานสุขภาพปฐมภูมิ โดยมีสมรรถนะของการทำงาน ดังนี้
1)      พัฒนาการเข้าถึงการดูแลด้านสุขภาพ โดยให้บริการด้านสุขภาพที่ครอบคลุม ตอบสนองต่อปัญหาและความต้องการของประชาชนในชุมชน
2)      มีความไวเชิงวัฒนธรรม ไวต่อสถานการณ์ ประเด็นปัญหาด้านสุขภาพ พร้อมทั้งทำความเข้าใจต่อปัญหาสุขภาพ ความต้องการด้านสุขภาพของประชาชนในชุมชน รวมถึงสามารถวิเคราะห์หาปัจจัยที่เป็นต้นเหตุและเป็นแนวทางแห่งการแก้ปัญหา
3)      ออกแบบการบริการดูแลที่ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายหลักทุกกลุ่มของชุมชน โดยนำปัญหาและความต้องการของคนในชุมชนเป็นตัวตั้ง นักสุขภาพครอบครัวเป็นบุคคลสำคัญที่สามารถให้คำแนะนำแก่ประชาชนเพื่อให้เกิดการใช้ชีวิตอย่างมีสุขภาวะ เน้นการส่งเสริม ป้องกัน และฟื้นฟูสภาพของบุคคล ให้มีวิถีชีวิตที่เหมาะสม ดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข
4)      ปรับปรุงวิธีการทำงานและมีใจยินดีตอบรับกับการเรียนรู้ประเด็นปัญหาสุขภาพใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นตลอดเวลา อาทิเช่น ปรับปรุงวิธีการเฝ้าระวังโรคที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงจากการย้ายถิ่น การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การพร้อมรับมือกับภัยพิบัติ การบาดเจ็บและอุบัติเหตุ เป็นต้น
5)      ให้ความสำคัญกับการพิทักษ์สิทธิ เน้นความเสมอภาคของผู้รับบริการทุกคน
6)      กระตุ้นให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประสบการณ์ ข้อมูลสุขภาพ ระหว่างองค์กรวิชาชีพกับองค์กรอื่นๆ
7)      มุ่งเน้นการแก้ปัญหาสุขภาพโดยการทำวิจัยที่สนับสนุนงานด้านการพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน รวมถึงการเผยแพร่งานวิจัยแก่ผู้อื่น และการนำผลการวิจัยมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนางาน
8)      เน้นการทำงานแบบมีส่วนร่วมของภาคีที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน การทำงานแบบหุ้นส่วนที่เชื่อมร้อยเครือข่ายที่มีอยู่ในชุมชน
9)      ปฏิบัติงานโดยใช้กระบวนการค้นหาและใช้ทุนทางสังคมที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการส่งเสริมสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชน
10)   พัฒนาทักษะการสื่อสารทางสังคม โดยเฉพาะการพัฒนาให้ชุมชนเป็นพื้นที่/ศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้เรื่องระบบสุขภาพชุมชน นักสุขภาพครอบครัวจะต้องเปิดช่องทางการสื่อสารในรูปแบบต่างๆ เพื่อสื่อความรู้สู่ชุมชน เช่น การจัดเวทีชาวบ้าน เวทีประชาคมหรือเวทีสาธารณะในชุมชน การจัดประชุมวิชาการ/อบรม เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ร่วมกระบวนการพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน เป็นต้น



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น